ภัยเงียบโรคหัวใจ เสี่ยงตายเฉียบพลัน

EyWwB5WU57MYnKOuXuVxOyNsu4xIGyqhZ5vuHf4Wn3nUcGxfzPZqAV

ปัจจุบัน “โรคหัวใจวายเฉียบพลัน”…เป็นภัยเงียบที่ต้องตระหนัก ระวัง ใส่ใจกันให้มาก โดยเฉพาะลักษณะอายุ เพศ วัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร

คนมีอายุที่เดิมเป็นโรคหัวใจยังคงมีอยู่ แต่แนวโน้มคนอายุน้อยลงเป็นโรคหัวใจมากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายประการ สภาวะแวดล้อมที่มีความเครียดมากขึ้น สังคมที่เปลี่ยนไป น้ำหนักตัวมากขึ้น ดูแลสุขภาพไม่ดี…ดูแลน้อย กินอาหารที่มีไขมันเยอะ…ชีวิตผูกติดกับอาหารฟาสต์ฟู้ด

เหล่านี้เป็นปัจจัยส่งเสริมทั้งนั้น ผลทำให้คนไข้โรคหัวใจเป็นมากในคนที่มีอายุน้อยลง นพ.โชคชัย สุวรรณกิจบริหาร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ บอกว่า คำว่า “น้อยลง” เทียบกับสมัยก่อนแนะนำกันว่า “ผู้ชาย”…ถ้าอายุสัก 45 ปี “ผู้หญิง”…อายุ 40 ปี แต่ในช่วงหลังๆพบคนไข้อายุน้อยลงมากขึ้น

“ที่เคยรักษาล่าสุดอายุ 25 ปีเท่านั้น เราประมาทไม่ได้ ต้องหมั่นดูแลสุขภาพของเรา ยิ่งในใครที่มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นโรคหัวใจ…พ่อ…แม่…พี่…น้องเป็น ต้องหมั่นดูแล ตรวจเช็ก ก่อนที่จะมีอาการ ถ้าตรวจแล้วไม่มีก็ค่อยว่ากัน”

นพ.โชคชัย ย้ำว่า จริงๆแล้วปกติเราสามารถประเมินความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจได้จากปัจจัยหลายอย่าง สูบบุหรี่ไหม ความดันมี …ไม่มี น้ำหนักเกินหรือเปล่า ที่สำคัญต้องรู้ด้วยว่าผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่า แต่ในผู้หญิงบางกลุ่ม…บางช่วงอายุก็มีโอกาสเป็นมากกว่า ยกตัวอย่างวัยหมดประจำเดือน

สัญญาณเตือน ตามที่หลายคนเข้าใจ “เจ็บจี๊ดบริเวณหน้าอก” ต้องดูอย่างอื่นประกอบด้วยหลายอย่าง ตามที่ทราบกันคนที่เป็นโรคหัวใจต้องมีอาการเจ็บหน้าอก ร้าวไปที่กรามหรือร้าวไปที่แขนด้านซ้ายซึ่งก็ใช่ แต่ก็ต้องดูช่วงอายุด้วย ถ้าอายุมากก็เสี่ยงเยอะ…

ปัญหามีว่า…คนไข้โรคหัวใจ 30 เปอร์เซ็นต์ไม่มีอาการอย่างที่ว่ามานี้ อันนี้น่ากลัว…โดยเฉพาะคนไข้ที่เป็นเบาหวานไม่น้อย การที่จะรู้สึกเจ็บร้าวจะไม่มีเลย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือจะมีการอักเสบของเส้นประสาท หลอดเลือด ทำให้การรับรู้ความรู้สึกเจ็บมีน้อยลง เห็นได้ชัดว่าธรรมดาก็อาจจะรู้สึกชาเท้า

“คนไข้เบาหวาน เมื่อไม่มีสัญญาณเตือน พอเป็นโรคหัวใจก็เป็นเยอะ”

กลุ่มคนไข้โรคเบาหวานต้องหมั่นดูแลดีๆ อย่าคิดว่าเป็นมานานแล้วก็ไม่ได้มีอาการอะไร ไม่ต้องคุมอะไรหรอก ก็เป็นความคิดที่ผิด เพราะถ้ามีอาการแล้วล่ะก็แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย อวัยวะต่างๆเสียไปแล้ว

ในฐานะหมอคนหนึ่งก็อยากจะรักษาคนไข้แล้วได้ผลออกมาดี หมายถึงว่ารักษาก่อนที่จะมีอาการ โรคเป็นน้อยๆ ใช้ยาน้อย…รักษาน้อยที่สุด ให้คนไข้มีความสุข มีชีวิตยืนยาว

ฉะนั้น การตั้งอยู่ในความไม่ประมาทสำคัญที่สุด

หมอคงไม่อยากเจอคนไข้ที่วูบน็อกเพราะโรคหัวใจมาเข้ารับการรักษา เพราะนั่นหมายถึงว่าเป็นมากแล้ว การตรวจร่างกายเช็กหัวใจเฉพาะด้านจึงมีความสำคัญ แต่ในบางรายที่เป็นแล้วและมีอาการวูบ

ถ้าเจอสถานการณ์เฉพาะหน้าแบบนี้ เราต้องประเมิน วูบไปจริงๆ หรือไม่…ให้เรียกชื่อ กระตุ้นให้ตื่น ตอบได้ไหม แล้วรีบประเมินหายใจไหม มีชีพจรอยู่หรือไม่ คลำชีพจรที่คอแล้วหยุดแสดงว่าหัวใจไม่เต้นเลย…

“ต้องรีบตะโกนขอความช่วยเหลือให้คนอื่นตามรถพยาบาล พร้อมๆกับเร่งปั๊มหัวใจ เพราะถ้าไม่เรียกคนให้ช่วยเดี๋ยวปั๊มไปเรื่อยๆก็จะหมดแรง คนอื่นไม่รู้”

ถามว่าต้อง “เร็ว” เท่าไหร่ มีระยะเวลาแค่ไหน…คุณหมอโชคชัย บอกว่า ไม่มีเวลาตายตัว ขั้นตอนตามที่กล่าวมาทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่งผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แล้วหลังจากนั้นค่อยตั้งหลักกันว่าจะไปรักษาต่อที่ไหน

บุคคลทั่วไป นอกจากปัจจัยทางกายภาพ พฤติกรรมก็สำคัญที่ทำให้มีผลห่างไกล “โรคหัวใจ” โดยเฉพาะการพักผ่อนมีความสัมพันธ์โดยตรง หากพักผ่อนไม่เพียงพอก็หมายถึงว่าเรามีกิจกรรมอย่างอื่นเยอะ มีความเครียดมากขึ้น ฉะนั้นการดูแลสุขภาพพื้นฐานมีความจำเป็นอย่างมาก

“พักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละคน ถามว่านอน 6 ชั่วโมงพอไหม…ต้องบอกว่าบอกไม่ได้ แต่ละคนมีความต้องการในการพักผ่อนไม่เท่ากัน ถัดมา…ต้องมาดูปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ หลักๆก็มีสองอย่าง ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพศ อายุ ประวัติครอบครัว…ปรับไม่ได้ก็ไม่เป็นไร กับส่วนที่เปลี่ยนแปลงได้ น้ำหนักตัวเยอะก็ลดให้ได้ใกล้เคียงมาตรฐาน”

สมมติ ผู้ชายสูง 160 ที่เราประเมินน้ำหนักกันแบบง่ายๆก็เอา 100 ลบ…ก็เหลือ 60 กิโลกรัม ถ้าเป็นผู้หญิงสูงเท่ากันก็เอา 110 ลบ…ก็จะเหลือ 50 กิโลกรัม แล้วก็ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เฉลี่ยอาทิตย์ละ 150 นาที จะแบ่งเท่าไหร่ก็ว่ากันไปอย่างน้อยก็สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง

การพักผ่อนมีความจำเป็น ความเครียดมีส่วนสำคัญแต่ปัญหาก็คือบอกกันยาก อย่าเครียดนะ…แล้วจะทำยังไง ก็ต้องพยายามปรับตัวเอง อาหารการกินก็สำคัญเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ แต่ทำได้…ไม่ได้ก็เป็นอีกเรื่อง

กรณีนักกีฬาเล่นกีฬาหนัก แล้วก็เป็นโรคหัวใจอายุยังน้อย เป็นแล้วก็เสียชีวิตเฉียบพลันทันที ทัศนะคุณหมอมองว่า ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ โดยหลักแล้วมักจะเกิดจากการเต้นหัวใจที่ไม่เป็นจังหวะหรือผิดจังหวะไป อาจมีความผิดปกติอยู่แล้ว ซึ่งเป็นได้ พบได้ในคนอายุน้อยๆ กระทั่งนักกีฬาหรือเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงนานๆ เช่น นักฟุตบอล บาสเกตบอล นักวิ่งมาราธอน

“หัวใจทำงานหนัก แล้วเต้นผิดจังหวะ…ไม่ไหวก็เสียชีวิต เจอเรื่อยๆ ถ้าช่วยชีวิตได้ทันโอกาสรอดก็จะสูง เพราะหลอดเลือดคนกลุ่มนี้ค่อนข้างดี แต่ที่ผิดปกติก็คือการเต้นที่ผิดจังหวะเท่านั้นเอง”

สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติเทคโนโลยีวันนี้มีตัวช่วย เรียกว่า เครื่องหัวใจและปอดเทียมช่วยการทำงานของหัวใจและปอดระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (TRANSPORT Extracorporeal Membrane Oxygenation) หรือเรียกสั้นๆว่า “TRANSPORT ECMO”

ปกติแล้วเวลาจะผ่าตัดคนไข้โรคหัวใจ ต้องใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมทำหน้าที่แทนหัวใจ…ปอดคนไข้ แล้วหมอก็ทำการผ่าตัดไป เดิมเครื่องนี้มีขนาดใหญ่มากขนาดเท่าโต๊ะ ใช้เฉพาะห้องผ่าตัดเท่านั้น ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้ขนาดลดลงเหลือเท่าไมโครเวฟน้ำหนักเหลือสิบกว่ากิโลกรัมเท่านั้น หิ้วถือได้ง่ายๆ

ระบบต่างๆที่ใช้ก็ทำงานได้นานขึ้น…เดิมใช้ได้แค่ 8 ชั่วโมงก็ใช้ได้นานถึง 30 วัน สามารถนำมาใช้งานภายนอกห้องผ่าตัดได้ ประโยชน์ก็คือใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยมายังสถานพยาบาลที่มีความพร้อมได้อย่างดี

“ใส่ให้คนไข้ที่มีความผิดปกติของหัวใจ หรือปอดอย่างรุนแรง ซึ่งแต่เดิมไม่เคยเคลื่อนย้ายไปไหนได้เพราะอาการหนักเกินไป ก็ย้ายได้…เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาของคนไข้ให้มีความเหมาะสมได้อย่างดีมากขึ้น”

ปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ การเคลื่อนย้ายต้องประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ศัลยแพทย์หัวใจ นักดมยาหัวใจ คนที่จะใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องนี้ และทีมเคลื่อนย้ายที่ต้องทำงานร่วมกันเป็นระบบ

“ภัยเงียบโรคหัวใจ”…เป็นอีกหนึ่งโรคสำคัญที่ต้องตระหนัก คนไทยมีอัตราป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี สาเหตุมาจากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวไปแล้วข้างต้น…การป้องกันเป็นสิ่งที่จำเป็น หากตรวจพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆจะช่วยให้คนไข้รู้ตัว ใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทัน ป้องกันไม่ให้โรคหัวใจกำเริบเร็วเกินไป.

Credit : http://www.thairath.co.th/

About admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *