เฝ้าระวัง 6 โรคติดต่อช่วงฤดูหนาว

thaihealth_c_bdeilsvxyz68

แฟ้มภาพ

กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศเรื่องการป้องกันโรคและภัยที่เกิดช่วงฤดูหนาวเนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเช่นนี้ อาจเป็นสาเหตุของโรคติดต่อหลายชนิด โดยเฉพาะโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคสุกใส โรคมือเท้าปาก และโรคอุจจาระร่วง ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ กองควบคุมโรคติดต่อขอให้ประชาชนระมัดระวังดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือเด็กเล็กอายุระหว่าง 0-4 ขวบ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ เป็นต้น
โดยขอแนะนำให้ทราบถึงข้อมูลโรคติดต่อและการป้องกันควบคุมโรคที่อาจเกิดในฤดูหนาว ได้แก่

1.โรคไข้หวัดและโรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อทางจมูกปาก ตา เชื้อนี้อยู่ในละอองเสมหะน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยที่ไอจามออกสู่สาธารณะ

2.โรคปอดบวม เกิดจากการติดเชื้อในปอดทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียติดต่อทางจมูก ปาก ตา เชื้อนี้อยู่ในละอองเสมหะน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยที่ไอจามออกสู่สาธารณะ

3.โรคหัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสหัดติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูกน้ำลายผู้ป่วยโดยตรงและการติดต่อทางอากาศผ่านละอองฝอยจากการไอจามของผู้ป่วย

4.โรคสุกใส เกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโดยเฉพาะน้ำจากตุ่มน้ำและติดต่อได้ทางอากาศ

5.โรคมือเท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย

6.โรคอุจจาระร่วงในเด็ก ซึ่งในฤดูหนาวมักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งติดต่อได้โดยการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน

แนะนำให้ประชาชนระวังป้องกันโรคที่เกิดในฤดูหนาว ดังนี้

1.รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและอบอุ่นอยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายมีความต้านทานโรคสวมเสื้อผ้าหลายๆ ชั้นเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น

2.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ สะอาดปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุกน้ำบรรจุขวดที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ (เครื่องหมาย อย.) ทุกครั้ง รวมทั้งเลือกซื้อน้ำแข็งที่สะอาดไม่มีตะกอนไม่ควรรับประทานน้ำแข็งที่ใช้แช่อาหารอื่น

3.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง

4.ถ่ายอุจจาระลงในส้วมและล้างมือให้สะอาด หลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง

5.หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อต่างๆ ผู้ป่วยควรอยู่บ้านไม่ควรเข้าไปในที่ชุมชนแต่หากจำเป็นต้องเข้าไปในที่ชุมชนให้สวมหน้ากากอนามัยหรือใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม

6.สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลต้องหมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะ ของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ กำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องและจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

About admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *