แพทย์เตือนระวัง “โรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วม”

กรมการแพทย์แนะวิธีขจัดปัญหาสุขภาพผิวหนังที่มากับน้ำท่วม

แพทย์เตือนภัยโรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วม ส่วนใหญ่พบโรคผิวหนังจากแมลง สัตว์มีพิษกัดต่อย และโรคน้ำกัดเท้า แนะเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนาน ๆ หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบู๊ท และรีบทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ เช็ดเท้าให้แห้งเมื่อเสร็จธุระนอกบ้านทันที

Rainy day

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายจังหวัดกำลังประสบกับปัญหาน้ำท่วมส่งผลให้ผู้ประสบภัยต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพหลายด้าน เพราะแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคจะปนเปื้อนมากับกระแสน้ำ ซึ่งจะพัดพาสิ่งสกปรก เชื้อโรค ของเสียต่างๆ สารเคมีกระจายเป็นวงกว้าง ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ส่งผลให้สัตว์และแมลงออกจากรังมาอาศัยอยู่บริเวณต่างๆ พาหะนำโรคต่าง ๆ เจริญเติบโตได้ดีแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว จึงมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ ได้แก่ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องร่วงจากการติดเชื้อจากอาหารเป็นพิษ โรคเล็บโตสไปโรสิส (หรือโรคฉี่หนู) และที่สำคัญคือโรคผิวหนังที่เกิดจากการประสบภัยน้ำท่วม ได้แก่ โรคผิวหนังจากการสัมผัสกับสารเคมีสิ่งสกปรกหรือติดเชื้อที่ผิวหนังไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราหรือหนอนพยาธิ โรคผิวหนังจากแมลง สัตว์มีพิษกัดต่อย

ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้รับอันตรายจากการถูกกัดต่อยแล้วในภายหลังหากได้รับเชื้อโรคเข้าไปด้วยอาจทำให้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบ หรือติดเชื้อในกระแสเลือดได้ และโรคน้ำกัดเท้า เมื่อเดินย่ำน้ำบ่อย ๆ หรือยืนแช่น้ำนาน ๆ จะทำให้เท้าเปื่อย โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้า ซึ่งบริเวณผิวหนังที่เปื่อยนี้ เป็นจุดอ่อนทำให้เชื้อโรคที่มากับน้ำเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ควรระมัดระวังเมื่อเดินลุยน้ำเพราะอาจถูกของมีคมทิ่ม ตำ ทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคต่าง ๆ รวมทั้งเชื้อบาดทะยักตามมาได้ เมื่อประสบเหตุดังกล่าวควรไปทำแผลที่หน่วยบริการสาธารณสุขทันที และถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเชื้อบาดทะยักมาก่อนควรปรึกษาแพทย์ทันที

อธิบดีกรมการแพทย์แนะนำการดูแลผิวหนังสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า

1) หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนาน ๆ หากจำเป็นต้องลุยน้ำให้สวมรองเท้าบู๊ทกันน้ำ เพื่อป้องกันของมีคมในน้ำทิ่ม ตำ เท้า และรีบทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ เช็ดเท้าให้แห้งเมื่อเสร็จธุระนอกบ้านทันที หากมีบาดแผลตามผิวหนังไม่ควรสัมผัสน้ำสกปรก เมื่อมีแผล ผื่นที่ผิวหนัง ให้พบแพทย์ ทายาหรือรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญหากรู้สึกไม่สบายให้รีบปรึกษาแพทย์ที่ใกล้บ้านทันที

2) ในแต่ละบ้านควรมีน้ำสะอาดเพื่อใช้อุปโภคหรือบริโภค ถ้าหาแหล่งน้ำสะอาดไม่ได้ควรต้มน้ำให้เดือดก่อนใช้อย่างน้อย 10 นาที ถ้าอาศัยอยู่ใกล้แหล่งโรงงานอุตสาหกรรมหรือแหล่งสารเคมี พึงระลึกเสมอว่าแหล่งน้ำดังกล่าวอาจปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งความร้อนไม่สามารถทำให้น้ำเหล่านี้สะอาดพอสำหรับการบริโภคได้ จึงควรจัดหาน้ำสะอาดไว้ใช้ในครัวเรือนให้เพียงพอเสมอ

3) ควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ สวมเสื้อผ้ามิดชิด ป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อย นอนในมุ้งหรือที่มิดชิดและพึงระลึกเสมอว่าแมลงหรือสัตว์มีพิษก็อาจหนีน้ำมาอาศัยอยู่ในที่สูงเช่นกัน

4) ควรตรวจสอบบริเวณบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ และผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานที่ยังเล็ก เพราะเด็กๆ จะสนุกกับการเล่นน้ำและไม่ใส่ใจเรื่องการรักษาความสะอาดและอันตรายที่แฝงมากับน้ำท่วม ตลอดจนตรวจสอบระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านด้วยความระมัดระวัง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้มีอันตรายถึงชีวิตได้

ขอบคุณข้อมูลจาก :: สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ภาพประกอบจาก :: iStockphoto.com

Credit : http://club.sanook.com/

About admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *