โรคต้อกระจกรักษาได้

Capture

ความยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร ทำให้ผู้ป่วยโรคต้อกระจกส่วนใหญ่ ไม่รู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไร และปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ จนอาจเสี่ยงต่อการมองไม่เห็น

โรคต้อกระจก ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการเสื่อมตามอายุ เพราะฉะนั้นเราจะพบผู้ที่เป็นต้อกระจกส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุ ที่อายุน้อยๆ ถ้าไม่ได้เกิดจากการเสื่อมตามอายุขัย ก็จะเกิดจากผู้นั้นเคยประสบอุบัติเหตุที่ตามาก่อน อาจเกิดจากแรงกระแทก หรือผู้ที่ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ ก็สามารถเป็นต้อกระจกได้ จากการใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่นรับประทานยาสเตียรอยด์ หรืออาจเป็นโรคภายในตาเรื้อรัง

ผู้ป่วยที่มีต้อกระจก จะมีอาการตามัวลงช้าๆ ลักษณะที่มัว จะมัวทั่วไปทั้งภาพ ไม่ใช่เฉพาะส่วนกลาง และไม่รู้สึกเจ็บหรือปวด ส่วนใหญ่อาการมัวจะใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี สำหรับผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกแล้ว ถ้าเป็นไม่มาก จะแนะนำว่า โรคนี้เป็นไปตามอายุขัย ยังไม่ต้องผ่าตัด แต่ถ้ามัวมากขึ้นจนรู้สึกว่ารบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันแล้ว จึงแนะนำให้ผ่าตัด

ซึ่งการผ่าตัดต้อกระจก เป็นการผ่าตัดที่ใช้คลื่นความถี่สูง ทุกขั้นตอนโดยทั่วไปใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง โดยเอาเลนส์ตาซึ่งขุ่นออก แล้วใส่เลนส์เทียมชนิดที่พับได้ สอดผ่านแผลขนาดเล็กเข้าไปในตา วิธีใหม่นี้แผลผ่าตัดจะเล็กเพียง 2-3 มิลลิเมตร นอกจากนี้แผลยังหายเร็วขึ้น และที่สำคัญการกลับมามองเห็นได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ปัญหาโรคต้อกระจกที่พบบ่อยในบ้านเรา โดยเฉพาะในถิ่นที่ห่างไกล ผู้ป่วยไม่รู้ว่าโรคนี้รักษาให้หายได้ หรือบางคนรู้ แต่ไม่สามารถมาพบแพทย์ได้ เนื่องจากฐานะยากจนหรือการเดินทางไม่สะดวก การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ รพ.ศิริราช จึงเป็นหนทางหนึ่ง ช่วยผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ มีโอกาสผ่าตัดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังเช่นโรงพยาบาลท่ากระดาน จ.กาญจนบุรี

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยต้องระวังเรื่องการติดเชื้อ เนื่องจากเวลาผ่าตัดจะมีแผล ซึ่งเชื้อโรคจะมีโอกาสเข้าไปในตาได้ แพทย์จะแนะนำการเช็ดหน้า ระวังน้ำไม่ให้เข้าตา ระวังฝุ่นละออง เวลาออกนอกบ้านอาจใช้แว่นตากันฝุ่นกันลมและแดดในช่วงแรก รวมถึงแนะนำการเช็ดตาหลังการผ่าตัด โดยทั่วไปประมาณ 2 สัปดาห์ ก็จะปลอดภัยจากเรื่องของเชื้อโรค จากนั้นแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจเป็นระยะ

การรักษาโรคต้อกระจก สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้เป็นปกติ และสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง
บทความโดย : รศ.พญ.จุฑาไล ตันฑเทิดธรรม  ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

 

About admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *