ใช้ “ยาในเด็ก” ไม่ระวังอาจเสี่ยงผลร้ายแรง

อภ.แนะนำข้อควรระวังในการใช้ยาในเด็ก หากใช้ไม่ถูกต้องอาจจะส่งผลร้ายแรงได้

องค์การเภสัชกรรมแนะนำการใช้ยาในเด็กต้องใช้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และต้องเพิ่มความระมัดระวังกว่าปกติ เพราะความอดทนของร่างกายต่ำกว่าผู้ใหญ่ หากเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว ผลเสียที่เกิดกับเด็กจะร้ายแรงกว่าที่เกิดกับผู้ใหญ่หลายเท่า และในบางกรณีอาจถึงแก่ชีวิตได้

ยา

ภญ.วนิชา ใจสำราญ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเปิดเผยว่า การใช้ยาในการรักษาโรคโดยทั่วไปจะปลอดภัยหรือไม่นั้น ขึ้นกับว่าใช้ยาอย่างถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากยาแต่ละประเภทมีวิธีและขนาดการใช้งานที่แตกต่างกัน หากใช้ไม่ถูกต้องอาจจะส่งผลร้ายแรงได้ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็กที่ร่างกายยังเติบโตไม่เต็มที่ ความอดทนของร่างกาย    ต่ำกว่าผู้ใหญ่ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังกว่าปกติ เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว ผลเสียที่เกิดกับเด็กจะร้ายแรงกว่าที่เกิดกับผู้ใหญ่หลายเท่า สำหรับข้อควรพิจารณาเบื้องต้นในการใช้ยาในเด็ก ได้แก่ ควรใช้ยาตามความจำเป็น และควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง หากยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สะดวกจะพบแพทย์หรือเภสัชกร ผู้ปกครองควรเลือกยาที่มีความปลอดภัยสูง และเลือกยาที่คุ้นเคยหรือที่เคยใช้แล้วปลอดภัย หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดใหม่ๆ โดยไม่จำเป็น ควรอ่านฉลากยาให้ถี่ถ้วนก่อนใช้ยา และสังเกตลักษณะทางกายภาพของยาว่าเปลี่ยนแปลงจากที่เคยใช้หรือไม่ เนื่องจากแพทย์หรือเภสัชกรมักเลือกยาประเภทน้ำให้เด็ก ซึ่งจะมีความคงตัวต่ำและเสื่อมสภาพเร็วกว่ายาเม็ด ในกรณีที่เด็กโตพอที่จะกินยาเม็ดได้ อาจเลือกใช้ยาเม็ด เพราะนอกจากราคาจะถูกกว่ายาน้ำแล้ว ยังพกพาสะดวกและเสื่อมสภาพช้ากว่ายาน้ำ สำหรับยาฉีดแพทย์จะเลือกใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น  เนื่องจากยาฉีดเป็นยาที่มีวิธีการบริหารยายากและมีโอกาสแพ้ แบบช็อคอย่างรุนแรงมากกว่ายาชนิดอื่น

 

ภญ.วนิชา ใจสำราญ กล่าวต่อถึงข้อควรระวังเมื่อใช้ยากับเด็กด้วยว่า ยาปฏิชีวนะ นิยมทำเป็นรูปผงแห้ง ก่อนผสมน้ำควรเคาะขวดยาให้ผงยากระจายตัวก่อน จึงผสมน้ำสุกต้มที่เย็นแล้ว หรือนำสะอาดที่อุณหภูมิปกติตามที่กำหนดให้ผสมผสานรับยาแต่ละชนิดผสมน้ำแล้วต้องเก็บในสภาวะที่กำหนดอย่างเคร่งครัดและต้องกินยาติดต่อกันจนหมด แม้ว่าอาการจะหายดีแล้ว ยกเว้นกรณีแพ้ยา ให้หยุดยาทันทีและรีบไปพบแพทย์  ยาลดไข้ ที่นิยมให้เด็กกิน คือ พาราเซตามอล (Paracetamol) โดยให้เด็กกินยาทุก 4-6 ชั่วโมงจนไข้ลด แต่ถ้าอาการ ไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน หรือมีไข้สูงมาก ควรไปพบแพทย์ และไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอลติดต่อกันเกิน 5 วัน เนื่องจากอาจมีผลเสียต่อตับได้ นอกจากนี้ ไม่ควรเลือกใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือ ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ด้วยตนเอง เพราะหากเด็กเป็นไข้เลือดออกจะทำให้เกิดอันตรายได้ แต่หากแพทย์หรือเภสัชกรจ่ายยา ลดไข้แอสไพริน หรือ ไอบูโปรเฟน ควรให้กินยาหลังรับประทานอาหารทันที เนื่องจากยานี้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และนอกจากการให้ยาลดไข้แล้ว ควรเช็ดตัวเด็กด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดตามข้อพับ ตามซอกต่างๆ และลำตัว เพื่อช่วยระบายความร้อนและลดไข้ได้ดีขึ้น   ยาแก้ไอ ไม่ควรนำยาแก้ไอของผู้ใหญ่มาให้เด็กกิน เพราะยาบางชนิดอาจจะผสมแอลกอฮอล์ หรือยาบางตัวอาจมีฤทธิ์กดศูนย์กลางการหายใจ อาจเกิดอันตรายรุนแรงได้ ยาแก้ท้องเสีย หากผู้ปกครองต้องการเลือกใช้เอง แนะนำให้ใช้เฉพาะผงเกลือกแร่(O.R.S) เพื่อเป็นการทดแทนน้ำและเกลือแร่ เพราะอาการขาดน้ำในเด็กอาจทำให้เสียชีวิตได้

 

ในส่วนของข้อห้ามใช้ยาสำหรับทารกและเด็กเล็กบางชนิดที่ควรจดจำ ได้แก่   ยาแอสไพริน (Aspirin) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้  ยาคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine)ไม่ควรใช้ในทารกอายุต่ำกว่า 2 เดือน เพราะอาจทำให้ซึมนอนไม่หลับ หรือชักได้  ยาโลเปอราไมด์ (Loperamide) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2ขวบ เพราะอาจกดศูนย์การหายใจ  ยาเตตร้าซัยคลิน (Tetracyclin) ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ เพราะอาจทำให้ฟันเหลืองดำอย่างถาวรและกระดูกเจริญเติบโตไม่ดี ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ห้ามใช้ในเด็กอายุ ต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะยาอาจกดศูนย์กลางการหายใจ

 

ขอบคุณข้อมูล จาก กองประชาสัมพันธ์องค์การเภสัชกรรม
ภาพประกอบ จาก istockphoto.com

Credit : http://club.sanook.com/

 

 

About admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *