ไวรัสเมอร์ส ไขข้อสงสัย 12 เรื่องของเชื้อไวรัสมรณะ

m5

ไวรัสเมอร์ส คืออะไร อาการเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่มียารักษา เพียงแค่ 5 นาทีก็ติดต่อได้ ทำให้อัตราการตายสูง ! คำถาม-คำตอบต่อไปนี้จะทำให้เรารู้จักอิทธิฤทธิ์ของเชื้อไวรัสลึกลับนี้มากขึ้น

ไวรัสเมอร์ส ที่มีข่าวแพร่ระบาดและคร่าชีวิตชาวเกาหลีใต้ไปบ้างแล้วนั้น ทำให้คนไทยหวาดวิตกพอสมควร เพราะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจตระกูลเดียวกับซาร์ส ซึ่งเคยคร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมาก ที่น่ากลัวคือจนถึงวันนี้ยังไม่มียารักษา ถึงเวลาต้องทำความรู้จักกับเชื้อร้ายมรณะตัวนี้ให้มากขึ้น รู้ให้ครบทุกด้านก่อนตื่นตระหนกจนเกินควร
1. ไวรัสเมอร์ส คืออะไร

ไวรัสเมอร์ส ก็คือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันในประเทศตะวันออกกลาง (Middle East respiratory syndrome coronavirus (MERS-CoV)) หรือบางครั้งก็เรียกว่า “ไวรัสโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2012” คือ โรคระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (MERS-CoV) ซึ่งตรวจพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยเชื้อตัวนี้มาจากค้างคาวแล้วมาติดอูฐ ก่อนจะแพร่ไปชายชาวซาอุฯ ที่เป็นผู้ป่วยรายแรก

โคโรน่าไวรัส จัดเป็นวงศ์ (family) ใหญ่ของไวรัสวงศ์หนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคได้หลายโรค ตั้งแต่โรคหวัดธรรมดาไปจนถึงโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส
2. ไวรัสเมอร์ส อาการป่วยเป็นอย่างไร

เนื่องจากโรคนี้เป็นไวรัสตระกูลเดียวกับโรคซาร์ส ดังนั้นอาการที่พบคืออาการทางระบบทางเดินหายใจ โดยผู้ป่วยจะเป็นไข้ ไอ หอบ หายใจลำบาก และเมื่อตรวจร่างกายจะพบ “ปอดบวม” ปอดอักเสบ หรือนิวโมเนีย บางรายอาจมีอาการท้องร่วงร่วมด้วย

ทั้งนี้เมื่อผู้ป่วยมีอาการปอดบวมหรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ซึ่งจําเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประกอบกับการดูแลด้านอื่น ๆ ผู้ป่วยบางรายมีภาวะอวัยวะล้มเหลวโดยเฉพาะไตวาย หรือมีภาวะช็อกจากการติดเชื้อ สําหรับผู้ที่มีโรคประจําตัว ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน มะเร็งและโรคปอดเรื้อรัง อาการป่วยจะรุนแรง

h2ภาพจาก JUNG YEON-JE / AFP

3. ไวรัสเมอร์ส เกิดขึ้นที่ไหนแล้วบ้าง?

ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของยุโรป (ECDC: European Centre for Disease Prevention and Control) รายงานพบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2558 โดยพบผู้ป่วยแล้วใน 25 ประเทศ คือ

ซาอุดีอาระเบีย
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
กาตาร์
จอร์แดน
โอมาน
คูเวต
อียิปต์
เยเมน
เลบานอน
อิหร่าน
ตุรกี
อังกฤษ
เยอรมนี
ฝรั่งเศส
อิตาลี
กรีซ
เนเธอร์แลนด์
ออสเตรเลีย
ตูนิเซีย
แอลจีเรีย
มาเลเซีย
ฟิลิปปินส์
สหรัฐอเมริกา
เกาหลีใต้
จีน

mers2

4. ไวรัสเมอร์ส ติดต่อกันได้อย่างไร

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า โรคนี้การติดต่อเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพียง 5 นาทีก็สามารถติดต่อกันได้ผ่านทาง

การสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง
ติดต่อผ่านละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย การไอ หรือจาม
มือที่สัมผัสของใช้ร่วมกับผู้ป่วย
การสัมผัสกับอูฐที่มีเชื้อ
5. ไวรัสเมอร์ส ใครคือกลุ่มเสี่ยง

อย่างที่ทราบไปแล้วว่า ไวรัสเมอร์สจะติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิด ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงก็คือ

สมาชิกในครอบครัวผู้ป่วยไวรัสเมอร์ส
เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล
ผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด
ผู้ที่เดินทางกลับมาจากการประกอบพิธีฮัจญ์ที่ซาอุดีอาระเบีย เพราะมีคนหลายล้านคนทั่วโลกไปร่วมงานและอยู่ในพื้นที่แออัด
6. ไวรัสเมอร์ส มีอัตราการแพร่ระบาดสูงหรือต่ำอย่างไร

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ไวรัสเมอร์สเป็นเชื้อโรคที่มีอัตราการแพร่กระจายไม่ได้สูงมากนัก คือ ผู้ป่วย 1 คน สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ 0.60-0.69 คน ในขณะที่อัตราการแพร่กระจายของโรคอื่น ๆ มีมากกว่า เช่น

ผู้ป่วยโรคหัด 1 คน สามารถแพร่กระจายเชื้อต่อได้อีก 12-18 คน
ผู้ป่วยคางทูม 1 สามารถแพร่กระจายเชื้อต่อได้อีก 4-7 คน
ผู้ป่วยเอชไอวี 1 คน สามารถแพร่กระจายเชื้อต่อได้อีก 2-5 คน
ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 1 คน สามารถแพร่กระจายเชื้อต่อได้อีก 1.5-2.5 คน

ดังนั้น โอกาสที่โคโรนาไวรัสจะแพร่กระจายเป็นกลุ่มก้อนในชุมชนจึงมีน้อย ยกเว้นคนนั้นจะมีความเสี่ยงจริง ๆ เช่น เป็นผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย หรือมีร่างกายไม่แข็งแรง

mers3
7. ไวรัสเมอร์ส รักษาได้ไหม อัตราการเสียชีวิตสูงแค่ไหน

น่ากลัวทีเดียวเพราะปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนรักษาโรคไวรัสเมอร์ส จึงทำได้เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น และเนื่องจากยังไม่มียารักษา จึงทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 40 ต่างจากโรคซาร์สที่แม้จะแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าไวรัสเมอร์ส แต่อัตราการเสียชีวิตมีเพียงร้อยละ 9.6 เท่านั้น เรื่องนี้จึงทำให้วงการแพทย์เป็นกังวลกันมากกับการลุกลามของไวรัสเมอร์สครั้งนี้
8. ไวรัสเมอร์ส กับ ไวรัสซาร์ส เชื้อไหนอันตรายกว่ากัน

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่า แม้ไวรัสเมอร์สจะเป็นไวรัสกลุ่มเดียวกับซาร์ส แต่โอกาสการแพร่ระบาดจากคนสู่คนน้อยกว่าโรคซาร์ส 5 เท่า ทำให้การแพร่ระบาดส่วนใหญ่จึงยังจำกัดอยู่ในพื้นที่ตะวันออกกลาง โอกาสแพร่ระบาดไปทั่วโลกน้อย ต่างจากโรคซาร์สที่มีโอกาสสามารถแพร่ไปทั่วโลกได้มากกว่า

ทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่พบว่าเชื้อไวรัสตัวนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม หรือกลายพันธุ์แต่อย่างใด และแม้ว่าโรคนี้จะมีอัตราการแพร่ระบาดจากคนสู่คนต่ำ แต่สำหรับการระบาดที่เกาหลีใต้ ถือเป็นการแพร่กระจายแบบสุดยอด หรือ ซูเปอร์ สเพรด (Super spread) คือ แพร่ระบาดเร็วและจำนวนมาก จากคนเกาหลีที่ติดเชื้อจากพื้นที่ตะวันออกกลางเข้ามาในประเทศ และมีผู้ติดเชื้อต่อไปอีกถึง 30 คนในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ สาเหตุของการแพร่ระบาดเร็วคาดว่ามาจากความไม่รู้ ทำให้ไม่มีการระมัดระวังตัว โอกาสแพร่กระจายเป็นจำนวนมากจึงสูง

อย่างไรก็ตามอย่างที่ทราบว่า โรคซาร์สมียารักษาได้ ดังนั้นอัตราการเสียชีวิตจึงต่ำกว่าไวรัสเมอร์สที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษา
9. ประเทศไทยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไวรัสเมอร์สหรือไม่ ?

แม้จะยังไม่พบรายงานผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทย แต่ประเทศไทยก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เพราะมีชาวไทยจำนวนไม่น้อยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งแรงงานที่เดินทางไปทำงานในแถบตะวันออกกลาง เกาหลีใต้ อีกทั้งยังมีนักท่องเที่ยวจากชาติที่มีการแพร่ระบาดของโรคเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านวิจัยและฝึกอบรมโรคติดเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คน ก็มองว่า แม้ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงในเรื่องนี้ แต่ก็ต้องพิจารณาปัจจัย 3 ข้อ ประกอบด้วย คือ

1. เชื้อตัวนี้สามารถติดได้ง่ายแค่ไหน
2. เมื่อติดเชื้อคนป่วยจะเป็นพาหะแพร่กระจายสู่คนหมู่มากได้นานกี่วัน
3. เชื้อตัวนี้อยู่ในอากาศได้นานหรือมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้จากมาตรการรับมือของกระทรวงสาธารณสุขถือว่าทำได้ดีทีเดียว ส่วนเชื้อไวรัสเมอร์สที่กลัวว่าจะมีในค้างคาวไทยก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะจากการสำรวจค้างคาวไทยมาหลายสิบปี กว่า 1,000 ตัวอย่าง ไม่พบเชื้อไวรัสเมอร์ส แต่พบแค่สายพันธุ์หรือรหัสพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกันมาก แต่หลังจากตรวจคนที่สัมผัสใกล้ชิดค้างคาวก็ไม่พบว่ามีใครติดเชื้อไวรัสจากค้างคาวไทย

Mers_2

10. หากต้องสงสัยป่วยไวรัสเมอร์ส ต้องทำอย่างไร

หากใครมีประวัติเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด แล้วมีอาการไอ เป็นหวัด ให้ใส่หน้ากากอนามัย และพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย แต่ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไตวาย โรคปอดเรื้อรัง และภูมิต้านทานโรคต่ำ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอถึง 2 วัน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่า

นอกจากนี้ยังสามารถโทร. 1422 ปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่เว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค beid.ddc.moph.go.th
11. ทำอย่างไรถ้าจำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่มีไวรัสเมอร์สแพร่ระบาด

ตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนของตัวเอง
งดการสัมผัสกับอูฐ หรือดื่มนมอูฐดิบ หากเดินทางไปยังประเทศในตะวันออกกลาง
สวมใส่หน้ากากอนามัย
หลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด มีคนรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก
หมั่นรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ
ไม่ควรสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย หรือต้องสงสัยป่วยด้วยโรคนี้
หากเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ภายใน 14 วัน มีอาการเป็นไข้ เป็นหวัด หอบ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่มีคำสั่งห้ามเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาด ดังนั้นต้องคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

h

12. ไวรัสเมอร์ส ป้องกันอย่างไรดี

วิธีป้องกันไวรัสเมอร์สก็ทำเหมือนกับโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่วไป คือต้องรักษาร่างกายตัวเองให้แข็งแรง อีกทั้งต้องมีสุขอนามัยที่ดี เช่น

หมั่นล้างมือฟอกสบู่บ่อย ๆ
หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานทีที่มีผู้คนแออัด
สวมหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อโรค
ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
หากต้องเดินทางไปในประเทศตะวันออกกลาง ไม่ควรสัมผัสอูฐ หรือสัตว์ป่า
รับทราบข้อมูลแล้วก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกมากเกินไป เพราะทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยเตรียมพร้อมรับมือกับโรคนี้อย่างเต็มที่ ส่วนตัวเราเองนั้น การได้รู้ข้อมูลของโรคนี้ไว้บ้าง ก็ช่วยให้เรารู้จักสังเกตตัวเองหรือคนใกล้ชิด เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรคนี้ได้เช่นกัน

Credit : http://health.kapook.com/

About admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *