คลังยึดแอร์พอร์ตลิงก์ ล้างหนี้/ยืดเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลกำลังผลักดันก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานภายใต้วงเงินลงทุน 2.27 ล้านล้านบาท ให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะโครงการระบบราง ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ได้ตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการภายใน 6 ปี ซึ่งในส่วนของรถไฟฟ้าขณะนี้หลายเส้นทางอยู่ระหว่างก่อสร้าง ขณะที่ไฮสปีดเทรนในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ เฟสแรกจะก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-พัทยา และกรุงเทพฯ-หัวหิน จากนั้นจะศึกษารายละเอียดและเริ่มก่อสร้างในเฟสที่ 2 ในส่วนที่เหลือควบคู่กันไป

การเปิดประมูลก่อสร้างระบบรางทั้ง 4 สายจะมีขึ้นภายในสิ้นปีนี้ แนวทางดำเนินการรัฐบาลจะลงทุนในส่วนของโครงสร้างทั้งหมด เพราะมองว่าส่วนของโครงสร้างและระบบรางจะเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ อยู่ได้ 100-120 ปีเป็นอย่างน้อย โดยปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ จะไม่นำวงเงินลงทุนในส่วนของโครงสร้างไปคำนวณเป็นต้นทุน ทำให้ต้นทุนโครงการถูกลง ส่งผลให้ค่าขนส่งถูกลง เช่นเดียวกับค่าโดยสารที่จะถูกลงด้วย ขณะที่การบริหารจัดการเดินรถและการจัดหาระบบรถจะให้เอกชนดำเนินการด้วยวิธีเปิดประมูล ซึ่งขณะนี้ต่างชาติแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนจำนวนมาก อาทิ เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฯลฯตามแผนที่วางไว้ในส่วนของไฮสปีดเทรน 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และกรุงเทพฯ-หัวหิน ปลายปีนี้จะเปิดให้ต่างชาติเสนอตัวเข้าประมูลโดยวิธีเปิด ไม่มีการล็อกสเป็ก ผู้สนใจสามารถเสนอทางเลือกในการลงทุนและการเลือกใช้เทคโนโลยีได้แบบเปิดกว้าง วิธีการตัดสินรัฐบาลจะเลือกระบบที่ดีที่สุด โดยไม่จำเป็นว่าราคาจะต้องถูกที่สุด ที่สำคัญคือ หากเลือกระบบรถของประเทศใด ก็จะใช้ระบบนั้นทั้ง 3 เส้นทางผู้เสนอตัวเข้าร่วมคัดเลือกจึงต้องเสนอมาทั้งแพ็กเกจ นอกจากก่อสร้างระบบรถแล้ว ต้องจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งการตั้งโรงงานผลิตระบบรถไฟฟ้า การบริหารซ่อมบำรุง อะไหล่ ฯลฯ

ดร.วีรพงษ์กล่าวว่า ในส่วนของเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา ล่าสุดได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า แทนที่จะลงทุนก่อสร้างโครงการใหม่ ก็จะเปลี่ยนคอนเซ็ปต์โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ซึ่งเดิมจะใช้เชื่อมระหว่างสนามบินดอนเมืองกับสนามบินสุวรรณภูมิ ก็ต่อเชื่อมจากสุวรรณภูมิไปถึงพัทยาในเฟสแรก จากนั้นเฟสที่สองจะต่อขยายไปถึง จ.ระยอง ขณะเดียวกันจากที่แอร์พอร์ตลิงก์ประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรง ทุนจดทะเบียนติดลบไปแล้ว อาจต้องลดทุน เพิ่มทุน ซึ่งอาจต้องรื้อโครงสร้างหรือปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการใหม่ ส่วนการรถไฟจะบริหารหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณา

“ในส่วนของระบบรถที่จะเชื่อมต่อจากสุวรรณภูมิไปพัทยา ประมูลเทคโนโลยีอะไรไม่ได้แล้ว เพราะกำหนดเป็นระบบของซีเมนส์แล้ว ก็ต้องใช้ระบบของซีเมนส์ คือต่อราง แล้วใช้ระบบของซีเมนส์”

ทั้งนี้ ในช่วงที่รัฐบาลจะจัดงานใหญ่แสดงผลงานในวาระที่เข้าบริหารประเทศครบรอบ 1 ปี ระหว่างวันที่ 22-29 ส.ค.นี้ ที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน รัฐบาลได้เชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ผลิตรถไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีเป็นที่ยอมรับเข้าร่วมออกบูทแสดงเทคโนโลยีเพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้เยี่ยมชมและรู้จักเทคโนโลยีรถไฟฟ้าและไฮสปีดเทรนด้วย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาโดยรวมของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่มีหนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท สาเหตุมาจากการดำเนินงานยังไม่คล่องตัว ยังผูกติดกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัทแม่ ทั้งเรื่องเงินทุนหมุนเวียน การจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ แม้ว่าจะตั้งบริษัทลูก คือบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด มาบริหารการเดินรถแล้วก็ตาม

แนวทางการบริหารจัดการหนี้ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มี 2 แนวทาง คือ 1) ขยายเส้นทางเชื่อมต่อถึงสนามบินดอนเมือง กับขยายเส้นทางไปยังภาคตะวันออกถึงระยอง

และ 2) แยกบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.ออกมาจากการดูแลของการรถไฟฯ และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ส่วนภาระหนี้ที่การรถไฟฯ กู้มาเพื่อก่อสร้าง และลงทุนระบบอาณัติสัญญาณ และรถไฟฟ้ากว่า 3 หมื่นล้านบาท อาจมีบางส่วนให้การรถไฟฯ รับผิดชอบ และบางส่วนที่บริษัทรับผิดชอบเอง ในอนาคตอาจจะหาผู้ถือหุ้นรายอื่นเข้ามาถือหุ้นเช่น บมจ.การบินไทย บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.)

“เมื่อแยกบริษัทออกมาเป็นอิสระจากการรถไฟฯแล้ว ต่อไปบริษัทนี้จะทำหน้าที่บริหารการเดินรถและหาประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่สถานี โดยเช่ารางจากการรถไฟฯ นอกจากนี้ในอนาคตบริษัทจะหารายได้เพิ่มจากการประมูลรับจ้างบริหารการเดินรถให้กับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ เพื่อให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง”

ด้านนายมนัส แจ่มเวหา รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการโครงการ (แอร์พอร์ตลิงก์) เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา “ทางแอร์พอร์ตลิงก์มาเล่าให้ฟังว่า เขาหาเงินมาได้ ก็ต้องส่งเข้าการรถไฟฯ เพราะเป็นบริษัทลูก

 

แล้วบริษัทลูก เวลาจัดซื้อจัดจ้างต้องขอ ร.ฟ.ท. คือขั้นตอนยาว แต่ถ้าเป็นนิติบุคคลต่างหาก จะมีวิธีการอย่างไร เพื่อให้การบริหารจัดการคล่องตัว รวดเร็ว สั้น อีกประเด็น จะทำอย่างไรให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น แล้วผู้ใช้บริการพอใจ ประเด็นหลักคือ มีแนวทางบริหารจัดการอยู่ 2 แนวทาง คือแนวทางของ สบน.และการรถไฟฯเสนอ โดยให้ไปปรับจูนว่าจะทำอย่างไร แต่ยังไม่ได้คิดไปไกลถึงขั้นให้คลังเข้าไปถือหุ้นทั้งหมด”

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การแก้ปัญหาขาดทุนของแอร์พอร์ตลิงก์ โดยเสนอให้กระทรวงคลังเข้าถือหุ้นในบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. 100% โดยคลังต้องรับหนี้กว่า 2 หมื่นล้านบาท แล้วแปลงหนี้เป็นทุน เพราะหากยังคงสถานะเป็นบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท.อยู่ จะแก้ปัญหาได้ยาก ซึ่งแนวทางนี้ทางกระทรวงคมนาคมและพนักงานบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.เห็นด้วย แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารการรถไฟฯ

About admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *