แคนาดากักตัวผู้ป่วยในรพ.ต้องสงสัยติด’อีโบลา’

6h7ajfiagg77kd9iffaec

แคนาดากักตัวผู้ป่วยในรพ.ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา ขณะที่ไนจีเรียขออาสาสมัครเพิ่ม ด้านบุคลากรที่ปฏิบัติภารกิจด้านการแพทย์ของไลบีเรียเรียกร้องขอเพิ่มค่าตอบแทน

                      10 ส.ค.57 เจ้าหน้าที่ทางการแคนาดา เปิดเผยว่า มีผู้ป่วยที่เพิ่งเดินทางกลับจากไนจีเรีย ถูกส่งไปกักโรค ที่โรงพยาบาลในนครโตรอนโต รัฐออนตาริโอ หลังแสดงอากาศว่ามีไข้ และเป็นไปได้ว่าอาจจะติดเชื้อไวรัสอีโบลา เนื่องจากไนจีเรีย เป็นหนึ่งในหลายประเทศในแอฟริกาตะวันตก ที่มีการยืนยันการระบาดของไวรัสอีโบลา ที่กำลังระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในโลก และทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 961 คน และติดเชื้ออีกเกือบ 1,800 คน นับตั้งแต่เริ่มการระบาดเมื่อช่วงต้นปี
                      ผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ชาย และไม่ได้รับการเปิดเผยนาม กำลังอยู่ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลวิลเลียม ออสเลอร์ เฮลธ์ ซิสเต็ม’ส แบรมพ์ตัน ซีวิค ชานนครโตรอนโต
                      โรงพยาบาลออสเลอร์ แถลงว่า เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน จึงได้ใช้มาตรการควบคุมการติดเชื้อระดับสูงสุดในแผนกฉุกเฉิน ที่รวมถึงการคัดแยกผู้ป่วย และคณะแพทย์กำลังทำงานอย่างใกล้ชิด กับบุคคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
                      ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุข ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาในออนตาริโอ และความเสี่ยงที่คนในออนตาริโอ จะติดเชื้อนั้นต่ำมาก และระบบสาธารณสุขของออนตาริโอ ก็เตรียมพร้อมรับคนที่เดินทางมาพร้อมกับอาการป่วยที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้ออีโบลา
                      เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกคนหนึ่ง บอกว่า จากประสบการณ์และบทเรียนของการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ ซาร์ส ทำให้โรงพยาบาลของแคนาดา มีความเชี่ยวชาญด้านขั้นตอนและระบบควบคุมการติดเชื้อ ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ในการรับมือ แม้กระทั่งโรคร้ายแรงอย่างอีโบลาก็ตาม
‘ไนจีเรีย’ ขออาสาสมัครเพิ่ม หลังอีโบลาระบาดหนัก
                      การพยายามต่อสู้เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาของไวรัสอีโบลา ยังคงดำเนินต่อไปในขณะที่ไนจีเรียเรียกร้องขออาสาสมัครไปช่วยรับมือกับการระบาดของโรค ด้านกินีได้ปิดพรมแดนติดกับสองประเทศเพื่อนบ้านในแอฟริกาตะวันตก
                      เพียงหนึ่งวัน หลังจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้การระบาดของอีโบลา เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หลายประเทศที่อยู่ห่างไกลอย่างอินเดียก็ออกมาตรการเข้มงวด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของอีโบลา ที่คร่าชีวิตประชาชนไปเกือบ 1 พันคนแล้ว และแม้ WHO จะไม่ได้ห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ แต่มีบางประเทศ เริ่มออกมาตรการเองแล้ว
                      แซมเบีย ประกาศห้ามพลเมืองจากประเทศที่เผชิญการระบาดของอีโบลาเข้าประเทศ ส่วนแช้ดระวับเที่ยวบินทุกเที่ยวจากไนจีเรีย ซึ่งเป็นหนึ่งที่กำลังเผชิญการระบาด เช่นเดียวกับ กินี, เซียราเลโอนและไลบีเรีย ที่ WHO ระบุว่า เป็นการระบาดที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ
                      ทางการในกรุงลากอส ของไนจีเรีย ที่ได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในแอฟริกา ระบุว่า กำลังต้องการอาสาสมัครเนื่องจากขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนรัฐบาลกินี ประกาศว่า กำลังปิดพรมแดนที่ติดกันไลบีเรียและเซียรา เลโอน ชั่วคราว เพื่อให้ทั้งสามประเทศ มีเวลาในการดำเนินการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค ส่วนเซียร่า เลโอน ได้วางกำลังทหาร 1,500 นายเพื่อบังคับใช้มาตรการกักโรคในสองพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศ ที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นต้นตอการระบาดของโรค
                      อินเดีย ประเทศที่มีประชากร 1,250 ล้านคน ก็ตื่นตัวและเตรียมพร้อมเช่นกัน โดยเฉพาะตามสนามบินทุกแห่ง และรัฐบาลได้เปิดสายด่วนฉุกเฉินเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือด้วย เนื่องจากมีพลเมืองเกือบ 45,000 คน อาศัยอยู่ใน 4 ชาติ ที่เผชิญการระบาดของอีโบล่า และเป็นไปได้ที่พวกเขาจะเดินทางกลับบ้าน ถ้าสถานการณ์การระบาดเลวร้ายลง
                      ด้านประธานาธิบดีกู๊ดลัค โจนาธาน ของไนจีเรีย ได้เตือนเรื่องการแพร่ข่าวที่เป็นเท็จเกี่ยวกับอีโบลา ที่สามารถนำไปสู่ความหวาดกลัวเกินเหตุ, ความตื่นตระหนกและการเข้าใจผิดได้ ที่รวมถึงข้อเสนอแนะที่ไม่ได้ยืนยันเกี่ยวกับการป้องกัน, การรักษา และการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส หลังสื่อในท้องถิ่น รายงานเมื่อวันเสาร์ว่า มีผู้เสียชีวิต 2 คน และป่วยอีก 20 คน หลังจากกินเกลือเข้าไปในปริมาณที่มากเกินไป เพราะเชื่อว่าจะช่วยป้องกันอีโบลาได้
บุคลากรด้านการแพทย์ไลบีเรียขอเพิ่มค่าตอบแทน-ปรับปรุงสภาพการทำงาน
                      บุคลากรที่ปฏิบัติภารกิจด้านการแพทย์ของไลบีเรีย ได้เรียกร้องขอเพิ่มค่าตอบแทน และสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ในระหว่างการประชุมร่วมกับประธานาธิบดีเอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ ที่กรุงมอนโรเวีย เมื่อวันเสาร์
                      ข้อพิพาทอันเนื่องมาจากความไม่พอใจรายได้และสภาพการทำงานของบุคลากรในวงการแพทย์เหล่านี้ มีขึ้นในขณะที่ไลบีเรีย กำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 คน ขณะที่บุคลากรที่ปฏิบัติภารกิจด้านการแพทย์ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 40 คน ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายคนรู้สึกว่า ในขณะที่พวกเขาเป็นแนวหน้าของการสู้ไวรัสมรณะ รัฐบาลกลับล้มเหลวในการรักษาสัญญาที่จะปรับปรุงสภาพการทำงานของพวกเขาให้ดีขึ้น
                      ด้านประธานาธิบดีเซอร์ลีฟ ได้ขานรับข้อเรียกร้อง ด้วยการสัญญาว่ารีบพิจารณาความเดือดร้อนของบุคลากรเหล่านี้ แต่ก็ขอให้พวกเขาอดทน เธอบอกด้วยว่า จะจ่ายค่าตอบแทนตามที่รับปากไว้ภายในสัปดาห์หน้า ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่น การประกัน, เงินพิเศษและอื่น ๆ จำเป็นต้องใช้เวลาอีก 2-3 จึงจะดำเนินการได้
                      จากตัวเลขขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า การระบาดของอีโบล่า ในแอฟริกาตะวันตก ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมอย่างน้อย 961 คน โดยการระบาดปรากฎครั้งแรกที่กินี ก่อนจะแพร่ไปยังเซียร่า เลโอน, ไลบีเรียและไนจีเรีย ซึ่งไลบีเรีย ได้เปิดโครงการ “ปฏิบัติการโล่ห์สีขาว” โดยส่งทหารไปประจำการตามสถานที่ต่าง ๆ และตั้งด่านตรวจนอกกรุงมอนโรเวีย เพื่อพยายามป้องกันการเคลื่อนย้ายของประชาชน อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการฉุกเฉินในการรับมืออีโบลาของประธานาธิบดีเซอร์ลีฟ โดยมีบุคลากรที่ปฏิบัติภารกิจด้านการแพทย์ ประจำอยู่ใกล้กับด้านตรวจของทหารเพื่อคอยวัดอุณหภูมิของประชาชน ซึ่งถ้าใครอุณหภูมิสูงกว่าจะปกติจะถูกกักตัวไว้
Credit : คมชัดลึกออนไลน์

About admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *