บังกลาเทศเปิดแผนย้ายชาวโรฮีนจาไปอยู่เกาะ หวั่นกระทบท่องเที่ยว

558000006258101

เอเอฟพี – บังกลาเทศมีแผนย้ายชาวโรฮีนจาหลายพันคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้อพยพใกล้ชายแดนพม่า ไปยังเกาะแห่งหนึ่งทางใต้ของประเทศ ส่วนมาเลเซียกำลังสืบสวนตำรวจ 12 นายในความเกี่ยวข้องกับกรณีพบหลุมศพหมู่ติดกับพื้นที่ของไทย ท่ามกลางวิกฤตค้ามนุษย์ที่ภูมิภาคแถบนี้กำลังเผชิญ

เจ้าหน้าทีระดับสูงของบังกลาเทศเผยในวันพุธ (27 พ.ค.) ว่ารัฐบาลได้เริ่มแผนย้ายชาวโรฮีนจาไปยังเกาะฮาติมา ในอ่าวเบงกอลแล้ว ในความเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซินา “จะมีการย้ายค่ายชาวโรฮีนจาอย่างแน่นอน จนถึงตอนนี้ ก้าวย่างต่างๆ อย่างไม่เป็นทางการได้เริ่มดำเนินการแล้ว” อามิต คูมาร์ บาอูล หัวหน้าหน่วยผู้ลี้ภัยพม่าของรัฐบาลบอกกับเอเอฟพี

อย่างไรก็ตาม แกนนำชาวโรฮีนจารายหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลบังกลาเทศทบทวนมาตรการดังกล่าว โดยบอกว่าแผนนี้นังแต่จะทำให้ชีวิตของผู้ลี้ภัยเลวร้ายลง หลังจากจำนวนมากทุกข์ทรมานอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยมานานหลายปีนับตั้งแต่หลบหนีมาจากพม่า “เราต้องการให้รัฐบาล (บังกลาเทศ) และองค์กรนานาชาติแก้ไขปัญหาของเราจากตรงนี้”

บังกลาเทศเป็นที่พักพิงของผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่ลงทะเบียนกว่า 32,000 คน โดยคนเหล่านี้พักอาศัยอยู่ในค่าย 2 แห่งในเขตค็อกส์บาซาร์ ซึ่งอยู่ติดชายแดนพม่า หลังพวกเขาหลบหนีการถูกข่มเหงและเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติจากชนกลุ่มใหญ่ชาวพุทธในพม่า

หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ที่ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพที่ค่าย 2 แห่งดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 1991 บอกว่าแผนดังกล่าวจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อเป็นไปตามความสมัครใจของชาวโรฮีนจา “ความสำเร็จของแผนจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ตั้งของค่ายใหม่ และผู้อพยพอยากไปอยู่ที่นั่นหรือไม่ แต่หากเป็นการบังคับก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนและเกิดประเด็นโต้เถียง” โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) บอกกับเอเอฟพี

บาอูลบอกว่า มูลเหตุบางส่วนของการย้ายค่ายผู้ลี้ภัยครั้งนี้ เกิดจากความกังวลว่าที่ตั้งปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของค็อกส์บาซาร์ อันเป็นที่ตั้งของชายหาดยาวที่สุดในโลก “รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น ดังนั้นแผนการย้ายค่ายผู้ลี้ภัยจึงอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ”

ชาวโรฮีนจาจากพม่า และผู้อพยพชาวบังกลาเทศหลายพันคน ถูกแก๊งค้ามนุษย์ล่อลวงให้ล่องเรือเสี่ยงอันตรายในความพยายามมุุ่งหน้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีมาเลเซีย เป็นจุดหมายปลายทางที่พวกเขาต้องการ ทั้งนี้บ่อยครั้งที่พวกเขาจะขึ้นฝั่งที่ไทย จากนั้นก็สัญจรทางบกข้ามชายแดนสู่ทางเหนือของมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ไทยเริ่มมีมาตรการกวาดล้างเครือข่ายค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ตามหลังพบศพหมู่ทางภาคใต้ของประเทศ ได้ทำให้เส้นทางการลักลอบค้ามนุษย์ในภูมิภาคเข้าสู่ความยุ่งเหยิง โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้อพยพได้รับความช่วยเหลือขึ้นฝั่ง ไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย มากกว่า 3,500 คน แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายพันคนที่ตกค้างอยู่กลางทะเลบนเรือหลายลำ

สื่อมวลชนมาเลเซียรายงานว่า ตำรวจกำลังสืบสวนเจ้าหน้าที่ 12 นาย เพื่อสรุปว่าพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับหลุมศพหมู่ที่ถูกพบในมาเลเซียติดกับพื้นที่ของไทยเมื่อเร็วๆนี้หรือไม่ ทั้งนี้ โดยรวมแล้วมีหลุมศพทั้งหมด 139 หลุมและแคมป์กักกัน 28 แห่งในเมืองวัง เกเลียน รัฐปะลิส แต่จำนวนผู้เสียชีวิตนั้นไม่เป็นที่แน่ชัด

รายละเอียดแผนย้ายผู้อพยพของบังกลาเทศถูกเผยแพร่ออกมาไม่กี่วันหลังจากนายกรัฐมนตรีฮาซินา เพิ่งประณามผู้อพยพทางเศรษฐกิจของประเทศว่าเป็นพวกป่วยทางจิตและกล่าวหาว่ากำลังทำลายภาพลักษณ์ของชาติ

ในส่วนของเกาะที่จะถูกใช้เป็นค่ายผู้อพยพโรฮีนจานั้นยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่เจ้าหน้าที่ได้เริ่มเตรียมการสำหรับหาที่ตั้งใหม่แล้ว โดยผู้บริหารงานส่วนท้องถิ่นเกาะฮาติมา บอกว่าพื้นที่ 1,250 ไร่บนเกาะ ถูกระบุว่าเหมาะสมสำหรับเป็นที่ตั้งใหม่ของค่ายผู้อพยพ

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ไม่รวมถึงผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกราวๆ 200,000 คน ที่หลบหนีข้ามพรมแดนเข้ามาในช่วงทศวรรษก่อนและลี้ภัยอยู่ในบังกลาเทศ ซึ่งมีชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มใหญ่

Credit : http://manager.co.th/Around

About admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *